แผนธุรกิจกับราคาหุ้น
แผนภาพที่ผมวาดให้นักเรียนดู ที่อยู่ในตอนหุ้นเพิ่มทุนได้มาฟรีตอน 4 เมื่อวันที่ 4/5/58 ถ้านักเรียนสังเกตดีๆ จะเห็นแผนธุรกิจมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับราคาหุ้นด้วย
ตรงแผนธุรกิจในภาพ
นักเรียนจะเห็นประมาณการกระแสเงินสด หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Cash Flow Projection (CF)
ในธุรกิจจะต้องมีการจัดทำ CF เพื่อคาดการณ์ว่าเงินสดจะเข้าและออกจากกิจการอย่างไรบ้าง ในปีปัจจุบันและปีต่อๆ ไปในอนาคต
โดยส่วนใหญ่หรือเกือบจะทั้งหมดของแผนธุรกิจหรือ CF ที่ออกมา จะมีกระแสเงินสดรับเข้ามากกว่ากระแสเงินสดจ่ายออก สาเหตุเพราะคนลงทุนย่อมมองอนาคตในด้านดี เขาจึงตัดสินใจลงทุน
ถ้าดูจาก CF เงินในอนาคตจะต้องเหลือมากๆ จึงตกลงใจที่จะทำโครงการ
เงินเหลือในอนาคตดูได้จาก B – C (เงินสดรับหักออกด้วยเงินสดจ่าย)
อยากให้นักเรียนย้อนกลับไปดูแผนภาพอีกที นักเรียนจะเห็นว่าเงินเหลือในอนาคต (B – C) ก็คือเงินที่จะเกิดในอนาคต เงินที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติม (เงินเหลือเพิ่ม) ในอนาคตในแต่ละปีจะถูกนำมาคิดลด (ปรับมูลค่า) ให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน ตรงที่ผมกำกับด้วย PV
เอา PV ในแต่ละปีมารวมกันกลายเป็น NPV
NPV คือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ มูลค่าปัจจุบันของเงินเหลือที่เกิดจากการทำโครงการทั้งหมด
NPV นี่แหละเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นเกิดส่วนล้ำมูลค่าหุ้น (Premium) สาเหตุเพราะราคาหุ้นจะเท่ากับ ทุนบวกด้วย NPV ได้ผลลัพธ์เท่าไร เอาจำนวนหุ้นไปหาร ก็จะได้ราคาหุ้นต่อ 1 หุ้น
ดังนั้น หากแผนธุรกิจ มี CF ที่ออกค่า NPV เป็นบวก ราคาหุ้นจะเกิดส่วนล้ำมูลค่าหุ้นขึ้น
ในทางตรงกันข้ามหาก CF ออกค่า NPV ติดลบ ราคาหุ้นจะต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่กำหนด (PAR)
กรณีหลังนี้นักเรียนจะไม่มีทางได้เห็นเวลาที่นักเรียนซื้อหุ้น IPO สาเหตุเพราะไม่มีใครหรอกที่จะบอกว่ากิจการจะมีอนาคตที่เน่า เน่าแบบลงทุนไปแล้วเกิดการสูญเสียในเงินลงทุน (เจ๊ง)
นักเรียนจะเจอแต่กรณีแรกคือ การชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อบอกว่ากิจการมีอนาคตที่สดใส จะเหลือเงิน (B – C) กองโตเท่าภูเขาเลากา เป็นเหตุให้ NPV จาก CF โตขึ้นมากมาย ทำให้ราคาหุ้น IPO สูงเกินมูลค่าหุ้นที่กำหนด (PAR) ไปเยอะ
เช่น PAR หรือมูลค่าหุ้นที่กำหนด 1 บาท แต่ขาย IPO ให้ประชาชน ราคา 7.50 บาท มีส่วนเกินมูลค่าหุ้นสูงถึง 6.50 บาท
จากตัวอย่างนี้นักเรียนรู้สึกยังไง
คำตอบก็คือ ราคาหุ้นที่นักเรียนต้องจ่ายเพื่อให้ได้มา เป็นราคาที่รวมเอาผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น (เงินเหลือ) ในอนาคตมาพิจารณาปนอยู่ในราคาด้วย
ซึ่งประเด็นนี้แหละเป็นเรื่องที่อันตราย หากเกิดกรณีที่ความจริงที่เกิดขึ้นแย่กว่าตัวเลขใน CF ซึ่งนั่นหมายถึงราคาหุ้นหลังจากที่นักเรียนซื้อมาจะตก ซึ่งจะทำให้นักเรียนเจ๊งนั่นเอง
นักเรียนจึงต้องใส่ใจต่อการอ่านแผนธุรกิจ อ่านให้เข้าใจ อ่านให้เห็นภาพ ว่าเงินที่จะเหลือในอนาคตจะเหลือมากอย่างที่เขาว่าหรือไม่
เขาคือแผนธุรกิจที่พาให้เกิดการกำหนดราคา IPO ขึ้นมา พาให้นักเรียนเข้าไปซื้อ
ถ้านักเรียนอ่านแผนธุรกิจแล้วไม่เชื่อในเงินเหลือ ไม่เชื่อว่ากิจการจะโตได้อย่างที่แผนธุรกิจว่า แสดงว่านักเรียนเริ่มเห็นแย้งแล้วว่า เงินจะไม่เหลือมากอย่างกะที่แผนธุรกิจว่า นักเรียนจึงตัดสินใจไม่ซื้อหุ้น IPO ตัวนั้น
การอ่านแผนธุรกิจจึงจำเป็นมากต่อการตัดสินใจซื้อหุ้น IPO
ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะเตือนใจคนลงทุนทุกคนว่า ก่อนจะซื้อหุ้นตัวใด ต้องอ่านแผนธุรกิจ และต้องเชื่อว่าเงินเหลือ (B – C) ที่แผนธุรกิจว่า จะเกิดขึ้นได้จริง จึงจะตัดสินใจซื้อหุ้น
ครั้งหน้ามาว่ากันต่อครับ